อบเชย (Cinnamon)

อบเชย (Cinnamon)

อบเชย (Cinnamon) เครื่องเทศ
อบเชย ภาษาจีนเรียกว่า “กุ้ยพ้วย” เป็นส่วนเปลือกของต้นอบเชยที่ลอกจากลำต้นชั้นใน เมื่อตากแดดจนแห้งจะม้วนตัวเข้าหากัน มีลักษณะกลมเป็นหลอด มีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้มแล้วแต่ชนิด อบเชยมีทั้ง อบเชยจีน อบเชยญวน อบเชยเทศ อบเชยชวา อบเชยไทย และอบเชยเนปาล อบเชยจีนเมื่อแห้งแล้วจะมีเนื้อหนากว่าอบเชยอินเดีย แต่บางกว่าอบเชยไทยและญวน นอกจากส่วนของเปลือกแล้ว ส่วนของเมล็ด กิ่งหรือเรียกว่า “กุ้ยกี” และใบ ยังนำมาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยและใช้เป็นยาได้ด้วย อบเชยที่ดีควรมีเนื้อหนา ซึ่งจะมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูง มีกลิ่นหอม และหากเคี้ยวละเอียดจะไม่เหลือกาก ในการทำอาหารไทย มักใช้อบเชยในการทำเครื่องแกงเช่น พริกแกงกระหรี่ ประเภทผัดที่ใช้ผงกระหรี่ ใช้เป็นไส้กระหรี่ปั๊ป หรือใช้ร่วมกับโป๊ยกั๊กในอาหารคาวประเภทต้มเช่น พะโล้และเนื้อตุ๋น ส่วนในประเทศแถบตะวันตก มักใส่อบเชยในของหวาน เช่น ชินนามอนโรลล์ ใช้ผงอบเชยละเอียดโรยหน้ากาแฟใส่นม ใช้ผงอบเชยกับน้ำตาลโรยหน้าเพรทส์เซล และนอกจากนี้ยังมีหมากฝรั่ง และยาสีฟันรสอบเชยอีกด้วย
สรรพคุณ

  • อบเชยมีฤทธิ์อุ่น รสหวานเผ็ด กลิ่นหอมฉุน มีสารแทนนิน (tannin) มิวซิน (mucin) และโพลีฟีนอล (polyphenol) ในตำราจีนจัดให้อบเชยเป็นยาบำรุงไต ตับ กระเพาะปัสสาวะ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม ให้ความอบอุ่น แก้อาการมือเท้าเย็น แก้ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน แก้ปวดตามข้อเนื่องจากข้ออักเสบหรือเกาต์ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน
  • ในตำรับยาไทยพบว่าทั้งส่วนใบและรากของอบเชยมีสรรพคุณ แก้ปวดหัว บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้บิด และขับลม
  • สารเคมีบางตัวในอบเชยมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 (เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน) นอกจากนี้ยังช่วยลดคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ

วิธีใช้

  • บดอบเชยจนละเอียด แล้วผสมกับเหล้าดื่มทุกวัน จะช่วยลดอาการปวดท้องหลังคลอด
  • การดื่มชาอุ่นๆ ที่ชงจากอบเชยหรือกิ่งอบเชยทุกวัน จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ลดกรดในกระเพาะ ลดอาการมือเท้าเย็นและอาการปวดจากความเย็นต่างๆ แก้อาการตกขาว ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ตุ๋นเนื้อแพะกับอบเชย กินบำรุงม้ามและกระเพาะ แก้อาการอาหารไม่ย่อย
  • ดื่มน้ำต้มกิ่งอบเชยกับขิงสดทุกวัน ช่วยรักษาอาการข้ออักเสบ
  • จิบน้ำซุปที่ต้มจากเนื้อหมูแดงกับกิ่งอบเชย ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดและบำรุงร่างกายในสตรีวัยทอง

ข้อควรระวัง

  • ผู้ที่มีอาการเจ็บคอ ปากแห้ง มีไข้ มีอาการพิษสุราเรื้อรัง และมีแผลในกระเพาะ ห้ามกิน
  • ผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร เลือดกำเดาไหล ท้องผูก ปัสสาวะขัด หรือปัสสาวะเป็นเลือด ห้ามกิน