ขึ้นฉ่าย (Celery)

ขึ้นฉ่าย (Celery)

ขึ้นฉ่าย (Celery) เครื่องเทศ
ขึ้นฉ่าย ภาษาจีนเรียกว่า “เอียงคึ้ง” ฝรั่งเรียก “เซเลอรี” เป็นพืชผักที่หาง่ายในท้องตลาด พันธุ์จีนจะมีขนาดลำต้นเล็กกว่า ขึ้นฉ่ายกินได้ทั้งแบบสดและสุก ถ้าสดจะมีกลิ่นเหม็นเขียว ถ้าสุกจะมีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหาร ดับคาวเนื้อ คาวปลา อาหารทะเล ใส่ในอาหารประเภทยำ และนำมาประกอบอาหาร เช่น ต้มจับฉ่าย แกงจืด ปลาช่อนทอดกรอบ ผัดขึ้นฉ่ายกับเนื้อ ปลาจะละเม็ดนึ่งบ๊วย และมีสรรพคุณเป็นยาได้ในหลายๆ ด้าน
สรรพคุณ

  • ขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์เย็น รสหวานอมขม และมีสารลิโมนีน (limonene) สารซีลินีน (selinene) และสารฟทาไลเดส (phthalides) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมเฉพาะตัวของขึ้นฉ่าย สาร 2 ตัวนี้จะกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร
  • ขึ้นฉ่ายอุดมด้วยธาตุโพแทสเซียม ซึ่งช่วยปรับระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ ช่วยให้ไตทำงานได้อย่างเต็มที่ และยังเร่งกระบวนการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย
  • ขึ้นฉ่ายมีสาร 3 เอ็น-บิวทิลฟทาไลด์ (3-n-butyl phthalide) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระงับประสาท และช่วยลดความดันเลือด
  • ขึ้นฉ่ายมีสารที่ช่วยบรรเทาอาการปวดจากโรคเกาต์ ซึ่งมีสาเหตุจากผลึกยูริกไปเกาะอยู่ตามข้อ
  • เมล็ดขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์เป็นยากล่อมประสาท
  • ขึ้นฉ่ายมีแคลอรีต่ำมาก จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
  • เบตาแคโรทีนในขึ้นฉ่าย ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และหัวใจขาดเลือด

วิธีใช้

  • นำเมล็ดขึ้นฉ่ายมาชงน้ำดื่ม ลดการอักเสบของข้อเนื่องจากโรคเกาต์
  • ผัดขึ้นฉ่ายใส่ไตหมู กินบำรุงตับและไต
  • ดื่มน้ำขึ้นฉ่ายคั้นสดๆ ผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย จะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียน ปวดหัวและปวดไหล่ซึ่งเกิดจากความดันโลหิตสูง และหากดื่มครั้งละ 40 มิลลิลิตร วันละ 3 เวลา จะช่วยบรรเทาโรคความดันโลหิตสูง
  • ต้มรากขึ้นฉ่าย 10 รากกับพุทราจีน 10 ผล ดื่มน้ำที่ได้จากการต้ม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ดื่ม 5-10 วัน จะช่วยบำรุงตับ ลดความดันโลหิตและลดคอเลสเตอรอล
  • คั้นน้ำขึ้นฉ่ายดื่มสดๆ เพื่อแก้ไอและลดเสมหะ
  • ต้มขึ้นฉ่าย 250 กรัม ดื่มเฉพาะน้ำเพื่อรักษาอาการตกขาว หรือประจำเดือนมามากหรือมาไม่ปกติ

ข้อควรระวัง

  • ขึ้นฉ่ายมีไนเทรด (nirate) สูง เมื่อทำปฏิกิริยากับสารเอมีน (anine) ในเนื้อสัตว์ในลำไส้ จะทำให้เกิดเป็นไนโทรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัด แต่การกินขึ้นฉ่ายในปริมาณมากๆ ก็ควรต้องระวัง
  • น้ำมันที่พบในขึ้นฉ่ายมีสารลิโมนีน ซึ่งหากสัมผัสโดนอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางราย
  • ผู้ที่ท้องเดินเรื้อรัง ไม่ควรกินขึ้นฉ่ายมาก