โป๊ยกั๊ก (Chinese Star Anise)

โป๊ยกั๊ก (Chinese star anise)

โป๊ยกั๊ก (Chinese Star Anise) เครื่องเทศ
โป๊ยกั๊ก เป็นเครื่องเทศเก่าแก่ของจีนที่มีใช้มานานกว่า 1,000 ปี มีรูปร่างเหมือนดอกจันทร์แปดแฉก  คำว่า “โป๊ย” ในภาษาจีนแปลว่า 8 และ “กั๊ก” แปลว่า เหลี่ยมหรือแฉก คนไทยเรียกโป๊ยกั๊กว่า “จันทน์แปดกลีบ” โป๊ยกั๊กเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดและเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศจีนและเวียดนาม ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือส่วนของผลที่มีเมล็ดติดอยู่นำไปทำให้แห้ง มีกลิ่นหอมและรสร้อน โป๊ยกั๊กเป็นเครื่องเทศที่สำคัญในอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะอาหารประเภทตุ๋น เช่น พะโล้ ก๋วยจั๊บ สตู มัสมั่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง
สรรพคุณ

  • โป๊ยกั๊ก มีฤทธิ์ร้อน กลิ่นหอม ใช้รักษาอาการท้องอืดเฟ้อ ไส้เลื่อน และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม
  • บรรเทาอาการปวดหลัง เหน็บชา
  • สารฟินิลโปควินอยด์ (phenylpoquinoids) ในโป๊ยกั๊ก มีคุณสมบัติในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าเบตาแคโรทีน
  • สารอิลลิเวอริน A (illiverin A) และทาชิโรนิน A (tashironin A) ที่สกัดได้จากรากของโป๊ยกั๊กมีสรรพคุณยับยั้งเชื้อเอซไอวี
  • โป๊ยกั๊กช่วยบำรุงและรักษาโรคตับและม้าม ดังนั้น ผู้ดื่มสุราจึงควรกินโป๊ยกั๊ก

วิธีใช้

  • นำโป๊ยกั๊กมาเคี่ยวกับน้ำซุป หรือนำไปเผาไฟก่อนนำมาเคี่ยว เพื่อให้ได้กลิ่นหอม จากนั้นจึงใส่เนื้อสัตว์ลงไป ตัวโป๊ยกั๊กจะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์
  • นำโป๊ยกั๊กบด 7 ดอก หัวหอม 7 หัว ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยตวง เคี่ยวไฟอ่อนๆ จนเหลือ 1 ถ้วยตวง ดื่มวันละ 2 ครั้ง จะช่วยขับปัสสาวะ และเป็นยาระบาย
  • ชงโป๊ยกั๊กกับน้ำอุ่นๆ ดื่ม ช่วยรักษาอาการปวดหลัง
  • สำหรับผู้ป่วยไทรอยด์ ให้นำโป๊ยกั๊ก 20 กรัม ถั่วเหลือง 500 กรัม อบเชย (กุ้ยพ้วย) เกลือ 2 ช้อนชา และน้ำตาล 3 ช้อนโต๊ะ ผัดรวมกันด้วยไฟอ่อนๆ กินลดอาการบวม ขับปัสสาวะ และช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ
  • โป๊ยกั๊กยังเข้ากันได้ดีกับเกลือ เหล้าองุ่น และอบเชย เพราะช่วยเสริมสรรพคุณทางยาให้แก่กันและกัน

ข้อควรระวัง

  • ผู้ที่มีอาการร้อนใน เป็นโรคผิวหนัง โรคตา ควรหลีกเลี่ยงการใช้โป๊ยกั๊ก