ขิง (Ginger)
ขิง เป็นเครื่องเทศเก่าแก่ที่ชาวจีนใช้มานานกว่า 2,000 ปี ภาษาจีนเรียก ขิงอ่อน ว่า “จี๋เกีย” และเรียก ขิงแก่ ว่า “บอเกีย” ขิงอ่อนและขิงแก่การนำไปใช้ต่างกัน ขิงแก่นิยมใส่ในอาหารเพื่อดับกลิ่นคาวและเพิ่มความหอม เช่น โขลกรวมกับน้ำพริกแกงแล้วนำไปผัดพริกขิงหมูกับถั่วฝักยาว หรือใส่เป็นน้ำต้มขิงกินกับเต้าฮวยและใส่ในน้ำต้มน้ำตาลหรือซอยบางๆ ใส่ในกุ้งอบวุ้นเส้น ส่วนขิงอ่อนนิยมกินเป็นผัก เช่น ซอยใส่ในไก่ผัดพริก โรยหน้าโจ๊ก ต้มส้มปลา กินแนมกับไส้กรอกอีสาน แลนำมาดองเป็นขิงดองสามรส กินกับเป็ดย่าง ไข่เยี่ยวม้า ชิงแก่มีรสเผ็ดกว่าขิงอ่อน และมีตัวยาสำคัญหลากหลายชนิด เหมาะสำหรับเป็นกระสายยา แก้โรคและอาการต่างๆ ปัจจุบันมีการสกัดสารที่มีประโยชน์จากขิง เพื่อใช้รักษาโรคอย่างกว้างขวาง
สรรพคุณ
- ขิงมีฤทธิ์อุ่น รสเผ็ด กลิ่นหอม สารชิงเจอรอน (zingeron) และ จิงเจอรอล (gingerol) ซึ่งมีมากในขิงแก่ มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ขับเหงื่อ แก้ท้องอึดเฟ้อ ลดเสมหะ แก้ไอ รักษาอาการหวัด แก้อาการเมารถเมาเรือ แก้อาเจียน ท้องเสีย แก้ปวด รักษาโรคกระเพาะ ช่วยการไหลเวียนของเลือด
- ใบ มีสรรพคุณขับลม รักษานิ่ว รักษาอาการฟกช้ำ
- ดอก ใช้ขับพยาธิ บำรุงธาตุไฟ
- ผล กินแก้ไข้
- ขิงสดและขิงแห้งจะให้สรรพคุณแตกต่างกัน ขิงสดจะมีฤทธิ์อุ่นและเผ็ด จึงดีต่อการทำงานของม้าม ปอด กระเพาะ ช่วยแก้หอบหืด ส่วนขิงแห้งมีฤทธิ์เผ็ดร้อน ช่วยแก้อาการปวดจากความเย็น แก้ท้องเสีย แก้อาการมือเท้าเย็น และรักษาโรครูมาติก
วิธีใช้
- คนจีนนิยมนำขิงสดมาเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารที่มีเนื้อสัตว์ร่วมด้วยเสมอ เพื่อลดกลิ่นคาว ส่วนขิงแห้งนิยมนำมาชงดื่มแก้ท้องเสีย การเลือกขิงสดมาใช้ ควรเป็นขิงสดอ่อนที่ผิวไม่เหี่ยว อวบ และฉ่ำน้ำ
- ต้มขิงแห้งรวมกับขิงสดกินแก้หวัดและไข้ หรือต้มขิงสดกับเปลือกส้มแห้ง ดื่มขณะอุ่นๆ ช่วยลดอาการไอ
- ตุ๋นขิงสดกับกระเพาะหมูกินเป็นกับข้าว ช่วยรักษาอาการแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
- ต้มชิงสดผสมกับพุทราจีนแท้ง และก้านต้นหอม ดื่มแก้หวัด
- ดื่มน้ำขิงอุ่น 1 แก้วก่อนเดินทาง จะช่วยลดอาการเมารถมาเรือได้ดี
ข้อควรระวัง
- ผู้ที่มีอาการร้อนใน เจ็บคอ คอแห้ง และมีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืนไม่ควรกิน