ผักกูด เฟิร์นกินได้

ผักกูด เฟิร์นกินได้

ผักกูด

ผักกูด” เป็นผักที่จัดอยู่ในพืชประเภทเฟิร์น ขึ้นในที่ชื้นแฉะอย่างเช่น ริมลำธาร หรือตามชายคลอง ซึ่งผักกูดสามารถเป็นตัวบ่งชี้สภาพแวดล้อมได้ดี เพราะหากสภาพแวดล้อมไม่ดี ผักกูดก็จะไม่ขึ้น

ผักกูดสามารถนำมาประกอบอาหารหลายอย่าง โดยจะนำยอดอ่อนและใบอ่อนมาทำเป็นอาหาร แถมเมนูจากผักกูดก็ยังอร่อยถูกปากหลายๆ คนเป็นพิเศษอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ยำผักกูด ผักกูดผัดน้ำมันหอย แกงปลากับผักกูด จะกินสดๆ หรือลวกจิ้มกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน แต่ไม่ควรกินผักกูดสดบ่อยมากนักเพราะในผักกูดมีสารออกซาเลตสูง โดยสารนี้จะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมและแร่ธาตุสำคัญๆ อีกทั้งหากสะสมสารนี้ไปในร่างกายมากๆ ก็จะทำให้ออกซาเลตไปตกผลึกสะสมในไตและกระเพาะปัสสาวะทำให้เป็นนิ่วได้ จึงควรทำผักกูดให้สุกก่อนกิน

สารอาหารในผักกูดนั้นก็มีมากมาย โดยมีสารเบต้าแคโรทีน และธาตุเหล็กสูง นอกจากนั้นก็ยังให้แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง วิตามินซี ไนอาซีน ผักกูดยังเป็นผักพื้นบ้านของไทยที่มีสรรพคุณทางยา โดยจะช่วยแก้ไข้ตัวร้อน แก้พิษอักเสบ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ขับปัสสาวะ