กะหล่ำปลี..กินแล้วไม่..ชีช้ำ

กะหล่ำปลี..กินแล้วไม่..ชีช้ำ

กะหล่ำปลี

กะหล่ำปลี” เป็นพืชมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตเมดิเตอเรเนียนแถบยุโรป และได้แพร่มาที่ประเทศไทย เมื่อก่อนกะหล่ำปลีปลูกได้ดีเฉพาะฤดูหนาวของทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น ปัจจุบันได้มีพันธุ์ทนร้อนเหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทยจึงสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล สามารถขึ้นได้ดีกับดินแทบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนโปร่ง และชอบแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน กะหล่ำปลีเป็นผักที่ปลูกได้ผลดีในช่วงของเดือน ตุลาคม-มกราคม

กะหล่ำปลี” เป็นผักที่มีวิตามินซีสูงมาก การกินกะหล่ำปลีฝอย 1 ถ้วย เท่ากับการกินส้มเขียวหวาน 1 ผล และยังประกอบไปด้วย วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินอี โฟเลต เบต้าแคโรทีน และแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก โพแทสเซียม และแมกนีเซียม อีกด้วย

จากผลงานวิจัยพบว่าสารกลูตามีนในกะหล่ำปลีช่วยเคลือบกระเพาะอาหารได้ ช่วยในการบรรเทาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และในกะหล่ำปลียังมีสารซัลเฟอร์ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำใส้ใหญ่ ทำให้ระบบการขับถ่ายดี อีกทั้งยังช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยระงับประสาททำให้รู้สึกผ่อนคลายนอนหลับได้ง่ายขึ้น สารอื่นในกะหล่ำปลี เช่น อินโดลฟลาโวนอยด์ คาร์บินอล ซัลฟาราเฟน กลูโคซิโนเลต เบต้าแคโรทีน กรดโฟลิก ซึ่งสารเหล่านี้มีผลช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง บำรุงระบบไต ชะล้างสารพิษ ทำความสะอาดลำไส้ บรรเทาอาการอักเสบจากแผลในสำไส้ บรรเทาอาการแน่นหน้าอก แก้ท้องผูก และเจ็บคอจุกเสียดแน่นท้องได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังค้นพบอีกว่ากะหล่ำปลีสามารถช่วยเพิ่มสารกลูตาไทโอน ซึ่งมีผลต่อการล้างพิษจากควันไอเสียและยาต่างๆ และข้อดีสารกลูตาไทโอนอีกอย่างก็คือทำให้ผิวขาวขึ้นอีกด้วย

แต่ทั้งนี้เนื่องจากในกะหล่ำปลีดิบมีสารที่ชื่อ กอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ หากกินมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายขาดสารไอโอดีนจนกลายเป็นโรคคอพอกได้ แต่สารพิษชนิดนี้จะสลายไปอย่างรวดเร็วเมื่อโดนความร้อนหรือทำให้สุก อย่างไรก็ตามการกินกะหล่ำปลีดิบแล้วเป็นอันตรายต่อร่างกายจะต้องกินอย่างสม่ำเสมอและต้องกินครั้งละเป็นกิโลกรัมเลยทีเดียว ดังนั้นการกินกะหล่ำปลีพบว่ามีคุณประโยชน์อยู่มาก แต่หากกินกะหล่ำปลีดิบในจำนวนมากๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เพื่อเป็นการป้องกันและดูแลสุขภาพจึงควรเลือกกินกะหล่ำปลีที่สดสะอาดและผ่านการปรุงให้สุกเสียก่อน