เทศกาลไหว้พระจันทร์..กับ..ขนมไหว้พระจันทร์
เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลที่ชาวจีนให้ความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากเทศกาลตรุษจีน หลายๆ ประเทศที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จะฉลองเทศกาลนี้กันอย่างสนุกสนาน มีทั้งการเชิดสิงโตตามท้องถนนเพื่อความเป็นสิริมงคล และการไหว้พระจันทร์ในยามค่ำคืนวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งจะต้องมีของไหว้คือ ขนมไหว้พระจันทร์ กับการประดับประดาโต๊ะบูชาอย่างสวยงาม สมาชิกของครอบครัวจะมาอยู่พร้อมหน้ากันเพื่อกินขนมพร้อมจิบชาภายใต้แสงจันทร์ เด็กๆ ก็จะถือโคมไฟกระดาษที่ทำเป็นรูปต่างๆ เดินไปตามถนน เป็นบรรยากาศที่สนุกสนาน
สำหรับตำนานของต้นกำเนิดเทศกาลไหว้พระจันทร์มีหลายตำนานด้วยกัน ตำนานหนึ่งว่า จักรพรรดิวูแห่งราชวงศ์ฮั่นเป็นผู้ริเริ่มการฉลองนี้เพื่อกราบไหว้ดวงจันทร์เป็นเวลา 3 วัน ในฤดูใบไม้ร่วง อีกตำนานบอกว่าเกิดขึ้นในช่วงที่มองโกลยึดครองจีน โดยใช้ขนมไหว้พระจันทร์เป็นที่ซุกซ่อนข้อความลับของพวกกบฏที่มีถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศให้มาชุมนุมครั้งใหญ่ในเดือน 8 เพื่อช่วยกันปราบทหารมองโกล
อีกตำนานหนึ่งก็ว่า มีหญิงงามชื่อว่าฉางอี้ หรือฉางเอ๋อ ภรรยาของขุนนางจีน เกิดไปกินยาวิเศษที่กินเข้าไปแล้วสามารถเหาะขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ได้ แถมยังได้ดื่มน้ำอมฤตจากนางฟ้าบนสวรรค์จนเป็นอมตะ กลายเป็นเทพธิดาอยู่บนดวงจันทร์ เป็นผู้ให้น้ำฝนแก่ชาวไร่ชาวนาเพื่อเพาะปลูก ชาวจีนจึงทำเพื่อบูชานางในคืนวันเพ็ญเดือน 8 เป็นการตอบแทน นั่นก็คือ “ขนมไหว้พระจันทร์” หรือที่คนจีนเรียกขนมเอี้ยปิ่งนั่นเอง
“ขนมไหว้พระจันทร์” เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในเทศกาลนี้ มีความหมายถึงความพรั่งพร้อม ความสมบูรณ์ และความสมหวัง ขนมก้อนเล็กๆ นี้มีกำเนิดที่ประเทศจีนเมื่อประมาณ 600 ปีมาแล้ว แต่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาสู่เมืองไทยเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา ขนมไหว้พระจันทร์ดั้งเดิมมีเพียงไส้ลูกบัว ถั่วแดง โหงวยิ้ง แต่ปัจจุบันได้ถูกพัฒนารสชาติให้เข้ากับยุคสมัยและรสปากของคนรุ่น ใหม่มากขึ้น